วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประวัติศาสตร์อยุธยา (แบบละเอียด)

กรุงศรีอยุธยามีชื่อเดิมที่ปรากฏในเอกสารชั้นต้นที่เป็นศิลาจารึกและตำนานบางเรื่องว่า "กรุงอโยธยา" ซึ่งเป็นการนำชื่อเมืองของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์มาใช้ ชื่อกรุงอโยธยาคงจะถูกเปลี่ยนเป็นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันทั่วไปในปัจจุบันนี้ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งอยู่ในระยะเวลาตอนปลายของสมัยกรุงศรีอยุธยา อันเป็นสมัยที่หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับที่เก่าที่สุดเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ได้รับการเขียนและคัดลอกกันต่อๆ มา เป็นต้นฉบับตัวเขียนที่เก็บอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ หนังสือพงศาวดารฉบับนี้ก็ได้กล่าวถึงเมืองที่มีชื่อว่า กรุงศรีอยุธยา เอาไว้ด้วย คนรุ่นหลังจึงได้เรียกชื่อนี้กันต่อมาจนถึงปัจจุบัน ความเป็นมาของกรุงศรีอยุธยานั้นปรากฏเป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดกันในลักษณะของตำนาน โดยเฉพาะตำนานเรื่องท้าวอู่ทอง จะมีอยู่หลายตำนานและปรากฏในหลายท้องที่ ตำนานท้าวอู่ทองบางเรื่องกล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับดินแดนแถบจังหวัดกำแพงเพชร บางเรื่องปรากฏเป็นตำนานของบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางในจังหวัดสุพรรณบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เมืองนครศรีธรรมราชก็มีตำนานที่เล่าถึงท้าวอู่ทองกับพระยาศรีธรรมาโศกราช ที่ตกลงรวมดินแดนนครศรีธรรมราชเข้ากับกรุงอโยธยาก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในหนังสือพระราชพงศาวดาร ตำนานบางเรื่องในหนังสือพงศาวดารเหนือที่รวบรวมจดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงการเป็นเมืองที่มีความสืบเนื่องมาจากเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่เก่าแก่ และมีเครือข่ายที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากหลักฐานด้านโบราณคดีว่า มีความเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรขอมกัมพูชา ถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องมิติของเวลา ตำนานต่างๆ เกี่ยวกับท้าวอู่ทองและเรื่องในพงศาวดารเหนือสามารถสะท้อนภาพของส่วนต่างๆ ซึ่งประกอบเข้าเป็นกรุงศรีอยุธยาได้ อย่างไรก็ดี เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ นั้น ได้กล่าวถึงสมเด็จพระราเมศวรโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีว่าได้ไปครองเมืองลพบุรีอีกทั้งเอกสารที่เป็นจดหมายเหตุของจีนได้เรียกกรุงศรีอยุธยาเมื่อแรกสถาปนาว่า หลอหู ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่จีนใช้เรียกเมืองลพบุรีมาก่อนด้วย จึงสันนิษฐานได้ว่า ราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยานั้น มีความสืบเนื่องมาจากเมืองลพบุรีที่เป็นศูนย์อารยธรรมเก่าแก่แห่งที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางมาก่อน และเมื่อได้พิจารณาประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการพบที่อยุธยา ได้แก่ เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งเป็นศิลปะก่อนสมัยอยุธยา ที่วัดธรรมิกราช พระพนัญเชิงซึ่งสร้างก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยา พระพุทธรูปทั้งสององค์มีรูปแบบศิลปะที่เรียกว่า ศิลปะอู่ทองรุ่นแรกที่ได้รับอิทธิพลของศิลปะลพบุรีด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ชี้อย่างชัดเจนว่า ได้มีการขยายตัวของเมืองลพบุรีลงมาทางใต้บริเวณเกาะเมืองอยุธยา ก่อนที่จะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวง เมื่อพ.ศ. ๑๘๙๓ การขยายตัวของเมืองลพบุรีลงมาที่อยุธยาเมื่อพิจารณาในด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจก็อาจอธิบายได้ว่า เป็นการขยายที่ตั้งการค้าออกไปใกล้ทะเลเพื่อการค้ากับดินแดนโพ้นทะเล เพราะอยุธยามีลำน้ำเจ้าพระยาซึ่งเรือเดินทะเลใหญ่ในสมัยนั้นสามารถเข้ามาถึงตัวเมืองได้ อีกทั้งที่ตั้งของอยุธยาเป็นที่รวมของแม่น้ำหลายสายคือแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตั้งของอยุธยาจึงมีลักษณะเป็นชุมทางที่สามารถติดต่อเข้าไปยังแผ่นดินภายในได้หลายทิศทางให้ประโยชน์ในด้านการเป็นแหล่งรวมสินค้าที่ส่งมาจากที่ต่างๆ ได้สะดวก และสามารถเป็นตลาดกลางขนาดใหญ่ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับทั้งภายในทวีปและดินแดนโพ้นทะเลได้เป็นอย่างดี การขยายตัวของเมืองลพบุรีมาที่อยุธยานั้นคงจะมีขึ้นตั้งแต่ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ด้วยเหตุนี้ การเกิดขึ้นมามีฐานะเป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครอง หรือเป็นเมืองหลวงของกรุงศรีอยุธยา จึงไม่เหมือนกับการเกิดขึ้นของเมืองเชียงใหม่และเมืองสุโขทัย เพราะทั้งสองเมืองมีลักษณะของการเป็นบ้านเมืองของผู้นำที่ค่อยๆ รวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าไว้ด้วยกัน และเติบโตสร้างความเป็นปึกแผ่นของแว่นแคว้นเพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุด เมืองซึ่งเป็นที่ประทับของผู้นำของแว่นแคว้นก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางของอำนาจการปกครองดินแดนที่รวบรวมเข้ามาได้ ส่วนกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ก็เป็นเมืองที่มีพื้นฐานอันเป็นเครือข่ายของเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่แต่โบราณแล้ว คือ บ้านเมืองในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริเวณที่ราบลุ่มน้ำมูลที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมแบบเดียวกันติดต่อไปถึงเมืองพระนครหลวงในกัมพูชา ส่วนเรื่องพระเจ้าอู่ทองในตำนานของเมืองนครศรีธรรมราชได้แสดงให้เห็นว่า เป็นดินแดนที่ได้รับการผนวกเข้ากับอยุธยาก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ปรากฏเรื่องราวการรวบรวมดินแดนนครศรีธรรมราชในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาซึ่งเริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่เวลาของการสถาปนา แต่กลับปรากฏในบันทึกของชาวยุโรปในสมัยอยุธยาตอนต้นว่า ดินแดนตลอดแหลมมลายูนั้นเป็นของสยาม ซึ่งมีศูนย์กลางเป็นเมืองใหญ่อยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ในพระราชพงศาวดารฉบับที่เขียนในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการกล่าวถึงกษัตริย์องค์ต่อมาหลังจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเสด็จสวรรคตว่า มาจากเมืองสุพรรณบุรีด้วยท่าทีที่มีอำนาจแล้วขึ้นเสวยราชสมบัติต่อมาทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ ๑) ได้มีการขยายความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับที่เขียนในภายหลังว่า กษัตริย์จากสุพรรณบุรีนี้คือ พ่องั่ว ผู้เป็นพี่มเหสีของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แม้ว่าจะเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นในภายหลังก็ตาม แต่เรื่องราวต่อๆมาในพระราชพงศาวดารก็สามารถให้ภาพรวมว่า ในช่วงระยะเวลาแรกแห่งการสถาปนากรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๑๙๕๒ นั้น กรุงศรีอยุธยามีกษัตริย์ที่ผลัดกันครองราชบัลลังก์อยู่ ๒ สาย สายหนึ่งคือ สายที่สืบราชตระกูลมาจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สถาปนาเมือง และอีกสายหนึ่งคือราชตระกูลที่มาจากเมืองสุพรรณบุรี การผลัดกันขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของทั้ง ๒ ราชตระกูลนั้นเป็นการยึดอำนาจมาจากอีกฝ่ายหนึ่ง ชื่อของเมืองสุพรรณบุรีมีที่มาจากหนังสือพระราชพงศาวดารเช่นเดียวกับชื่อของกรุงศรีอยุธยา เพราะจากเอกสารชั้นต้นที่เป็นศิลาจารึกหรือเรื่องในตำนานบางเรื่องนั้น ชื่อเดิมของเมืองสุพรรณบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนั้นคือ เมืองสุพรรณภูมิ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงที่เล่าเรื่องราวในสมัยพ่อขุนรามคำแหงก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณภูมิรวมอยู่ในกลุ่มเมืองที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง คือเมืองแพรก (ในจังหวัดชัยนาท) เมืองสุพรรณภูมิเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี ซึ่งในท้องที่ของเมืองเหล่านี้ล้วนมีโบราณสถานที่มีอายุไม่น้อยกว่าเมืองลพบุรีอยู่ด้วย ดังนั้น การที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้ระบุชื่อเมืองสุพรรณภูมิอยู่รวมกับดินแดนของกรุงศรีอยุธยาในลักษณะของเมืองที่มีอำนาจ ที่เจ้าเมืองสามารถเข้ามาสืบราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาได้ด้วยนั้น แสดงว่านอกจากการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยาจะเป็นการสืบอำนาจต่อจากเมืองลพบุรีโดยการสืบราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แล้ว ยังประกอบด้วยดินแดนของสุพรรณภูมิที่มีกษัตริย์ต่างราชวงศ์ปกครองสืบทอดกันมาอยู่ด้วยอีกส่วนหนึ่ง ดินแดนของกรุงศรีอยุธยาจึงมีอาณาเขตที่กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางทั้งหมด เป็นราชอาณาจักรที่มีอิทธิพลครอบงำตลอดทั้งแหลมมลายูและพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือการวมตัวกันได้ระหว่างดินแดนที่สืบมาจากเมืองลพบุรีเดิมกับดินแดนของสุพรรณภูมินั้นสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการเป็นเครือญาติที่สืบเนื่องมาจากการสมรสกันของราชวงศ์ทั้งสองพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบางฉบับที่เขียนขึ้นภายหลัง ที่กล่าวว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งสุพรรณภูมิ หรือขุนหลวงพ่องั่ว เป็นพี่มเหสีของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้น อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันของดินแดนทั้งสองได้ กลายเป็นราชอาณาจักรที่มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงที่ชาวต่างประเทศเรียกว่า ราชอาณาจักรสยาม โดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหรือเมืองหลวง ในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษแรกของการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่า การรวมตัวกันระหว่างสองราชวงศ์ คือราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ กับราชวงศ์ของสุพรรณภูมิ ยังไม่ราบรื่นนักดังจะเห็นได้จากการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่างทายาทของทั้งสองราชวงศ์ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรคต ราชสมบัติตกอยู่กับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งสุพรรณภูมิ โดยการยินยอมของสมเด็จพระราเมศวรโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งกลับไปครองเมืองลพบุรี แต่เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระราเมศวรได้เสด็จจากลพบุรีเข้าช่วงชิงราชบัลลังก์จากโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ภายหลังจากที่สมเด็จพระราเมศวรได้เสด็จสวรรคตแล้ว โอรสของพระองค์คือสมเด็จพระรามราชาธิราช ก็ได้สืบราชสมบัติต่อไปสมเด็จพระราเมศวรและสมเด็จพระรามราชาธิราช เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาสืบทอดต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ ๒๑ - ๒๒ ปี คือระหว่าง พ.ศ. ๑๙๓๑ - ๑๙๕๒

อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา

สมัยอยุธยาได้รับวัฒนธรรมจากขอม ซึ่งถ่ายทอดวัฒนธรรมลัทธิพราหมณ์เกี่ยวกับแนวความคิดกษัตริย์แบบเทวราชาจากอินเดีย อีกทีหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินสมัยอยุธยาจึงเป็นสมมติเทพ เปรียบเหมือนเจ้าชีวิตของคนไทยทั้งหลาย การติดต่อระหว่าง กษัตริย์กับประชาชนต้องใช้ราชาศัพท์ นับว่าเป็นการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแท้จริง ความรู้สึกดั้งเดิม ที่เคยนับถือพระเจ้าแผ่นดินเหมือนพ่อของลูกก็เริ่มหายไป กลายเป็นแบบนายปกครองบ่าวแทนส่วนวิธีปกครองบ้านเมืองก็ยังคงใช้วิธีการทหารแบบสุโขทัยสำหรับบริหารราชการส่วนภูมิภาค ส่วนการบริหารส่วน กลางได้แบ่งกิจการของประเทศออกเป็น 4 กระทรวง คือ เวียง วัง คลัง นา รวมเรียกว่า"จตุสดมภ์"กษัตริย์เป็นเจ้าแผ่นดิน สามารถพระราชทานที่ดินให้ราษฎร์ทำกินและเพิกถอนกรรมสิทธิ์ได้ ประชาชนตอบแทนแว่น แคว้นด้วยการยอมให้เกณฑ์แรงงานเพื่อใช้ในราชการและงานเพื่อสาธารณประโยชน์ ในยามปกติสุข ขุนนาง ข้าราชการ และประชาชนมีสภาพเป็นพลเรือนเหมือนกันหมด แต่ในยามศึกสงครามชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหารราษฎรนับถือศาสนาพุทธ (นิกายหินยาน) และพราหมณ์ไปพร้อม ๆ กัน แต่ศาสนาฮินดูมักมีบทบาทสำคัญในราช สำนัก ซึ่งมีพราหมณ์เป็นผู้ทำหน้าที่นี้ รวมทั้งมีระบบความเชื่อเกี่ยวกับผีสางอยู่แล้ว และที่สำคัญที่สุด คือ แบ่งแยก ประเภทบุคคลในสังคมออกเป็นชั้นต่าง ๆดังนี้1.ชนชั้นมูลนาย ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระาราชวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการ2.ชนชั้นพิเศษ ได้แก่ สมณะชีพราหมณ์ และชาวต่างประเทศที่เป็นพ่อค้าวานิช3.ชนชั้นไพร่ฟ้าข้าทาส ได้แก่ สามัญชน ซึ่งอาจมีฐานะเป็น ไพร่ ข้า หรือ ทาส ซึ่งมีจำนวนมาก ประมาณร้อยละ 95 ของประชากรทั้งหมดสังคมสมัยอยุธยานั้นเป็นสังคมแบบศักดินา ซึ่งได้สร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาโดยเริ่มในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลก- นาถ พระองค์ได้ทรงออกกฎหมายการควบคุมกำลังคนของฝ่ายพลเรือน-ทหารขึ้น มีการกำหนดฐานะและหน้าที่ไว้อย่าง เด่นชัด เช่น ประชาชนทั่วไปมีศักดินา 25 ไร่ ถ้าผู้ใดมีนามากกว่า 400 ไร่ ถือว่าเป็นชนชั้นผู้ดี ต่ำกว่าถือว่าเป็นชนชั้นไพร่ ความรับผิดชอบหน้าที่ก็แตกต่างกัน โดยที่ชนชั้นไพร่อยู่ภายใต้การควบคุมของชนชั้นผู้ดี ชนชั้นไพร่ไม่มีสิทธิมองกษัตริย์ ชนชั้นผู้ดีมีสิทธิในการช่วยเหลือพระพระมหากษัตริย์ระดมพลยามศึกสงคราม นอกจากนั้นยังได้รับสิทธิพิเศษอื่น ๆ ในระบบฐานันดรไพร่หรือระบบศักดินาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น สะท้อนให้เห็นได้จากบรรทัดฐานของ สังคมสมัยนี้ คือ กฎหมายบังคับให้ราษฎรทุกคนต้องมีมูลนาย และพระเจ้าแผ่นดินมีสิทธิบังคับให้ข้าแผ่นดินรับราชการ โดยไม่มีค่าจ้างหรือเบี้ยเลี้ยง ถ้าไพร่กระทำผิดต่อพระเจ้าแผ่นดิน พ่อแม่ต้องรับโทษทัณฑ์ร่วมกับไพร่ที่เป็นลูก ปัจจัยที่ดิน และแรงงานถูกผูกขาดโดยมูลนาย ในสมัยนั้นมีรูปแบบเศรษฐกิจการเกษตรเลี้ยงตนเอง ชาวบ้านหาของป่า จักสาน ทำน้ำตาล ทำเกลือ และทำงานฝีมือตามความชำนาญเฉพาะด้าน ผลผลิตนำมากินหรือใช้ในครัวเรือน ที่เหลือใช้แลก เปลี่ยนกัน แต่ถ้าหากยังเหลืออีกต้องส่งให้มูลนาย

วันจันทร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

อาณาจักร ล้านนา-อยุธยา-ลังกา-หัวเมืองมอญ

อาณาจักรล้านนา ในปี พ.ศ. 1839 พญามังราย (พ.ศ. 1804 - 1854) ได้มีคำสั่งให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า นภบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ (เชียงใหม่) เพื่อที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักรล้านนา ครั้งนั้นพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและ พญางำเมือง ได้เสด็จมาช่วยด้วย
อาณาจักรอยุธยา หลังจากมีการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา แรกนั้นสุโขทัยและอยุธยาไม่ได้เป็นไมตรีต่อกัน แต่ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมกว่า ทำให้อยุธยาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในของสุโขทัยมิได้เป็นไปโดยสงบ มีการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่าง พระยาบาลเมือง พระยาราม ยังผลให้อยุธยาสบโอกาสเข้าแทรกแซงกิจการภายใน ในรัชกาลนี้มีการรับไมตรีจากอยุธยาโดยการสมรสระหว่างราชวงศ์พระร่วง กับราชวงศ์สุพรรณภูมิ โดยมีพระราเมศวร ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นราชบุตรจากสองราชวงศ์
ลังกา สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับลังกาทางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์โดยรับมาจากนครศรีธรรมราชอีกที นอกจากนี้ สุโขทัยก็ยังมีความสัมพันธ์กับลังกาโดยตรง ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ได้มีพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงได้เดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกที่ลังกาอีกด้วย
หัวเมืองมอญ สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับจีนในลักษณะการค้าในระบบบรรณาการ คือ สุโขทัยจะต้องส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีน เพื่อแสดงความอ่อนน้อมต่อจีน และเมื่อเดินทางกลับ จีนก็ได้จัดมอบสิ่งของให้คณะทูตนำกลับมายังสุโขทัยด้วย และทำให้ได้รับวีธีการทำเครื่องปั้นดินเผาจากช่างจีนด้วย

ความสัมพันธ์กับต่างชาติ

จักรวรรดิมองโกล กองทัพจักรวรรดิมองโกลแผ่แสนยานุภาพโดดเด่นที่สุดเป็นช่วงเดียวกับการตั้งกรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1800 (ค.ศ. 1257) ซึ่งเป็นอาณาจักรของตนอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก
หลักฐานสำคัญในพงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 2 แปลเรื่องราวการติดต่อระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับราชวงศ์มองโกลได้สรุปไว้ว่ากุบไลข่านทรงปรึกษาขุนนางข้าราชการระดับสูงเกี่ยวกับการเตรียมทัพไปปราบปรามแคว้นต่างๆ ทางใต้ มีสุโขทัย ละโว้ สุมาตรา และอื่นๆ เป็นเมืองขึ้น ปรากฏว่าขุนนางชื่อ เจี่ย หลู่ น่าต๋า ไม่เห็นด้วยและได้กราบบังคมทูลเสนอแนะให้ทรงชักชวนให้ผู้นำดินแดนต่างๆ อ่อนน้อมยอมสนับสนุนก่อน หากไม่ยอมจึงยกกองทัพไปโจมตี นี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่กุบไลข่านทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี และขอให้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักมองโกล เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออาณาจักรมองโกล ปรากฏว่ามีอาณาจักรในดินแดนต่างๆ กว่า 20 อาณาจักรยอมรับข้อเสนอ รวมทั้งอาณาจักรสุโขทัยด้วย (ช่วงระหว่างประมาณ พ.ศ. 1822 - 1825)
พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 12 เป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงคณะทูตชุดแรกจากอาณาจักรมองโกลในสมัยกุบไลข่าน เดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 1825 (ค.ศ. 1282) ทูตคณะนี้นำโดยเหอจี จี่ นายทหารระดับสูงเป็นหัวหน้าคณะ แต่ขณะนังเรือแล่นผ่านฝั่งทะเลอาณาจักรจามปา ได้ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต ผลจากคณะทูตนี้ถูกประหารชีวิต ก่อนจะเดินทางไปยังอาณาจักรสุโขทัยทำให้อาณาจักรสุโขทัยไม่ทราบว่ามองโกลพยายามส่งทูตมาติดต่อ
พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 17 กล่าวถึงคณะทูตมองโกลชุดที่สองเดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในปี พ.ศ. 1835 (ค.ศ. 1292) ภายหลังจากข้าหลวงใหญ่ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยของมณฑลกวางตุ้ง ได้ส่งคนอัญเชิญพระราชสาส์นอักษรทองคำของกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัยไปยังนครหลวงข่านมาลิก (ต้าตู หรือปักกิ่งปัจจุบัน) คณะทูตมองโกลชุดที่สองได้อัญเชิญพระบรมราชโองการของกุบไลข่านให้พ่อขุนรามคำแหงเสร็จไปเฝ้า พระบรมราชโองการ นี้แสดงให้เห็นนโยบายของอาณาจักรมองโกลเรียกร้องให้ผู้นำของอาณาจักรต่างๆ ไปเฝ้ากุบไลข่าน แต่มิได้บังคับให้เป็นไปตามนี้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตามแต่ประการใด
พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 18 กุบไลข่านได้ส่งคณะทูตชุดที่สามมาสุโขทัย โดยได้อัญเชิญพระบรมราชโองการให้พ่อขุนรามคำแหง เสด็จไปเฝ้า หากมีเหตุขัดข้องให้ส่งโอรสหรือพระอนุชาและอำมาตย์ผู้ใหญ่เป็นตัวประกัน ซึ่งปรากฏว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตาม แต่ส่งคณะทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปแทน

ความเจริญรุ่งเรือง

ด้านเศรษฐกิจ
สภาพเศรษฐกิจสมัยสุโขทัยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ดังข้อความปรากฏในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 "…ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า ค้าถ้วยชามสังคโลก" และ "...เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว..." ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยระบบการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ เช่นสังคมไทยส่วนใหญ่ในชนบทปัจจุบัน
ด้านสังคม

ความเชื่อ และศาสนาการใช้ชีวิตของผู้คนในสมัยสุโขทัยมีความอิสรเสรี มีเสรีภาพอย่างมากเนื่องจากผู้ปกครองรัฐให้อิสระแก่ไพร่ฟ้า และปกครองผู้ใต้ปกครองแบบพ่อกับลูก ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกว่า "…ด้วยเสียงพาทย์ เสียงพิณ เสียงเลื่อน เสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื่อน เลื่อน…"
ด้านความเชื่อและศาสนา

สังคมยุคสุโขทัยประชาชนมีความเชื่อทั้งเรื่องวิญญาณนิยม (Animism) ไสยศาสตร์ ศาสนาพราหมณ์ฮินดู และพุทธศาสนา ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 ด้านที่ 3 ว่า "…เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้มีกุฎิวิหารปู่ครูอยู่ มีสรีดพงส์ มีป่าพร้าว ป่าลาง ป่าม่วง ป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขระพุงผี เทพยาดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดีพลีถูก เมืองนี้เที่ยว เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดี พลีบ่ถูก ผีในเขาอันนั้นบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย…"
ส่วนด้านศาสนา ได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบลังกาวงศ์จากนครศรีธรรมราช ในวันพระ จะมีภิกษุเทศนาสั่งสอน ณ ลานธรรมในสวนตาล โดยใช้พระแท่นมนังคศิลาอาสน์ เป็นอาสนะสงฆ์ ในการบรรยายธรรมให้ประชาชนฟัง ยังผลให้ประชาชนในยุคนี้นิยมปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม มีการถือศีล โอยทานกันเป็นปกติวิสัย ทำให้สังคมโดยรวมมีความสงบสุขร่มเย็น
ด้านการปกครอง

แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
1.แบบพ่อปกครองลูก ( ปิตุลาธิปไตย ) สุโขทัยมีลักษณะการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ผู้ปกครองคือ พ่อขุน ซึ่งเปรียบเสมือนพ่อที่จะต้องดูแลคุ้มครองลูก ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงโปรดให้สร้างกระดิ่งแขวนไว้ที่หน้าประตูพระราชวัง เมื่อประชาชนมีเรื่องเดือดร้อนก็ให้ไปสั่นกระดิ่งร้องเรียน พระองค์ก็จะเสด็จมารับเรื่องราวร้องทุกข์ และโปรดให้สร้างพระแทนมนังคศิลาอาสน์ได้กลางดงตาล ในวันพระจะนิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์สั่งสอนประชาชน หากเป็นวันธรรมดาพระองค์จะเสด็จออกให้ประชาชนเข้าเฝ้าและตัดสินคดีความด้วยพระองค์เอง การปกครองแบบพ่อปกครองลูก(ปิตุลาธิปไตย)ใช้ในสมัยกรุงสุโขทัยตอนต้น
2.แบบธรรมราชา การปกครองแบบธรรมราชา หมายถึง พระราชาผู้ปฏิบัติธรรมหรือ กษัตริย์ผู้มีธรรม ในสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ มีกำลังทหารที่ไม่เข้มแข็ง ประกอบกับอาณาจักรอยุธยาที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ได้แผ่อิทธิพลมากขึ้น พระองค์ทรง เกรงภัยอันตรายจะบังเกิดแก่อาณาจักรสุโขทัย หากใช้กำลังทหารเพียงอย่าง เดียว พระองค์จึงทรงนำหลักธรรมมาใช้ในการปกครอง โดยพระองค์ทรงเป็น แบบอย่างในด้านการปฏิบัติธรรม ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา นอกจากนั้นพระ มหาธรรมราชาที่ ๑ ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ที่ปรากฏแนวคิดแบบธรรมราชาไว้ด้วย การปกครองแบบธรรมราชา ใช้ในสมัยกรุงสุโขทัยตอนปลาย ตั้งแต่พระมหาธรรมราชาที่ ๑ - ๔
ด้านการปกครองส่วนย่อยสามารถแยกกล่าวเป็น 2 แนว ดังนี้
ในแนวราบ

จัดการปกครองแบบพ่อปกครองลูก กล่าวคือผู้ปกครองจะมีความใกล้ชิดกับประชาชน ให้ความเป็นกันเองและความยุติธรรมกับประชาชนเป็นอย่างมาก เมื่อประชาชนเกิดความเดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถร้องเรียนกับพ่อขุนโดยตรงได้ โดยไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่หน้าประตูที่ประทับ ดังข้อความในศิลาจารึกปรากฏว่า "…ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งไว้ให้ ไพร่ฟ้าหน้าใส…" นั่นคือเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถมาสั่นกระดิ่งเพื่อแจ้งข้อร้องเรียนได้
ในแนวดิ่ง

ได้มีการจัดระบบการปกครองขึ้นเป็น 4 ชนชั้น คือ
พ่อขุน เป็นชนชั้นผู้ปกครอง อาจเรียกชื่ออย่างอื่น เช่น เจ้าเมือง พระมหาธรรมราชา หากมีโอรสก็จะเรียก "ลูกเจ้า" ลูกขุน เป็นข้าราชบริพาร ข้าราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่ช่วงปกครองเมืองหลวง หัวเมืองใหญ่น้อย และภายในราชสำนัก เป็นกลุ่มคนที่ใกล้ชิดและได้รับการไว้วางใจจากเจ้าเมืองให้ปฏิบัติหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ไพร่ฟ้า ไพร่หรือสามัญชน ได้แก่ราษฎรทั่วไปที่อยู่ในราชอาณาจักร (ไพร่ฟ้า) ทาส ได้แก่ชนชั้นที่ไม่มีอิสระในการดำรงชีวิตอย่างสามัญชนหรือไพร่ (อย่างไรก็ตามประเด็นทาสนี้ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่ามีหรือไม่)

การสิ้นสุดของรัฐ

พ.ศ. 2127 หลังจากชนะศึกที่แม่น้ำสะโตงแล้ว พระนเรศวรโปรดให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวง (ตาก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก กำแพงเพชร พิชัย ชัยบุรี ศรีเทพ) ลงมาไว้ที่อยุธยา เพื่อเตรียมรับศึกใหญ่ พิษณุโลกและหัวเมืองเหนือทั้งหมดจึงกลายเป็นเมืองร้าง หลังจากเทครัวไปเมืองใต้ จึงสิ้นสุดการแบ่งแยกระหว่างชาวเมืองเหนือ กับชาวเมืองใต้ และถือเป็นการสิ้นสุดของรัฐสุโขทัยโดยสมบูรณ์ เพราะหลังจากนี้ 8 ปี พิษณุโลกได้ถูกฟื้นฟูอีกครั้ง แต่ถือเป็นเมืองเอกในราชอาณาจักร มิใช่ราชธานีฝ่ายเหนือ
ในด้านวิชาการ มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอเพิ่มว่า เหตุการณ์อีกประการ อันทำให้ต้องเทครัวเมืองเหนือทั้งปวงโดยเฉพาะพิษณุโลกนั้น อยู่ที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ บนรอยเลื่อนวังเจ้า ในราวพุทธศักราช 2127 แผ่นดินไหวครั้งนี้ส่งผลให้ตัวเมืองพิษณุโลกราพณาสูญ แม้แต่แม่น้ำแควน้อย ก็เปลี่ยนเส้นทางไม่ผ่านเมืองพิษณุโลก แต่ไปบรรจบกับแม่น้ำโพ (ปัจจุบันคือแม่น้ำน่าน) ที่เหนือเมืองพิษณุโลกขึ้นไป และยังส่งผลให้พระศรีรัตนมหาธาตุพิษณุโลก หักพังทลายในลักษณะที่บูรณะคืนได้ยาก ในการฟื้นฟูจึงกลายเป็นการสร้างพระปรางค์แบบอยุธยาครอบทับลงไปแทน ทั้งหมด

การแทรกแซงจากอยุธยา

หลังจากพ่อขุนรามคำแหงสวรรคตแล้ว เมืองต่างๆเริ่มแข็งเมือง ส่งผลให้ในรัชกาลพญาเลอไท และรัชกาลพญาไสลือไท ต้องส่งกองทัพไปปราบหลายครั้งแต่มักไม่เป็นผลสำเร็จ และการปรากฏตัวขึ้นของอาณาจักรอยุธยาทางตอนใต้ซึ่งกระทบกระเทือนเสถียรภาพของสุโขทัยจนในท้ายที่สุดก็ถูกแทรกแทรงจากอยุธยา จนมีฐานะเป็นหัวเมืองของอยุธยาไปในที่สุด โดยมี พระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เป็นผู้ปกครองสุโขทัยในฐานะรัฐอิสระพระองค์สุดท้าย โดยขณะนั้น ด้วยการแทรกแซงของอยุธยา รัฐสุโขทัยจึงถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ
เมืองสรวงสองแคว (พิษณุโลก) อันเป็นเมืองเอก มีพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) เป็นผู้ปกครอง

เมืองสุโขทัย เมืองรอง มี พระยาราม เป็นผู้ปกครอง
เมืองเชลียง (ศรีสัชนาลัย) มี พระยาเชลียง เป็นผู้ปกครอง
เมืองชากังราว (กำแพงเพชร) มี พระยาแสนสอยดาว เป็นผู้ปกครอง หลังสิ้นรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมบาล) พระยายุทธิษฐิระซึ่งเดิมทีอยู่ศรีสัชนาลัย ได้เข้ามาครองเมืองสองแคว (พิษณุโลก) และเมื่อแรกที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จขึ้นผ่านพิภพ เป็นพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าขณะนั้น พระยายุทธิษฐิระ เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ ที่ได้เพียงตำแหน่งพระยาสองแคว เนื่องด้วย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเคยดำริไว้สมัยทรงพระเยาว์ว่า หากได้ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ จะชุบเลี้ยงพระยายุท ธิษฐิระให้ได้เป็นพระร่วงเจ้าสุโขทัย พ.ศ. 2011 พระยายุทธิษฐิระจึงเอาใจออกห่างจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ไปขึ้นกับ พระยาติโลกราช กษัตริย์ล้านนาในขณะนั้น เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการเฉลิมพระนามกษัตริย์ล้านนา จากพระยา เป็น พระเจ้า เพื่อให้เสมอศักดิ์ด้วยกรุงศรีอยุธยา พระนามพระยาติโลกราช จึงได้รับการเฉลิมเป็นพระเจ้าติโลกราช
หลังจากที่พระยายุทธิษฐิระ นำสุโขทัยออกจากอยุธยาไปขึ้นกับล้านนา สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงเสด็จจากกรุงศรีอยุธยา กลับมาพำนัก ณ เมืองสรลวงสองแคว พร้อมทั้งสร้างกำแพงและค่ายคู ประตู หอรบ แล้วจึงสถาปนาขึ้นเป็นเมือง พระพิษณุโลกสองแคว เป็นราชธานีฝ่ายเหนือของอาณาจักรแทนสุโขทัย ในเวลาเจ็ดปีให้หลัง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงทรงตีเอาสุโขทัยคืนได้ แต่เหตุการณ์ทางเมืองเหนือยังไม่เข้าสู่ภาวะที่น่าไว้วางใจ จึงทรงตัดสินพระทัยพำนักยังนครพระพิษณุโลกสองแควต่อจนสิ้นรัชกาล ส่วนทางอยุธยานั้น ทรงได้สถาปนาสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 พระราชโอรส เป็นพระมหาอุปราช ดูแลอยุธยาและหัวเมืองฝ่ายใต้
ด้วยความที่เป็นคนละประเทศมาก่อน และมีสงครามอยู่ด้วยกัน ชาวบ้านระหว่างสุโขทัยและอยุธยา จึงมิได้ปรองดองเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จึงต้องแยกปกครอง โดยพระมหากษัตริย์อยุธยา จะทรงสถาปนาพระราชโอรส หรือพระอนุชา หรือพระญาติ อันมีเชื้อสายสุโขทัย ปกครองพิษณุโลกในฐานะราชธานีฝ่ายเหนือ และควบคุมหัวเมืองเหนือทั้งหมด

สถาปนาอาณาจักร

เมื่อต่อมาเกิดความขัดแย้งบางประการ ทั้งอาจจะเกิดจากขอมสบาดโขลญลำพงโดยตรงหรือไม่ก็ตาม แต่น่าจะกระทบกระเทือนต่อ ราชวงศ์นำถุม (ผาเมือง) และราชวงศ์พระร่วง จึงส่งผลให้พ่อขุนบางกลางหาว และพ่อขุนผาเมือง ต้องร่วมมือกันชิงเอาสุโขทัยคืนจากขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 1781 จากนั้น พ่อขุนผาเมืองก็กลับยกเอาเมืองสุโขทัย พระแสงขรรค์ชัยศรี และพระนาม "ศรีอินทรบดินทราทิตย์" ซึ่งได้นำมาใช้เป็นพระนาม ภายหลังได้คลายเป็น ศรีอินทราทิตย์ ให้กับพ่อขุนบางกลางหาว และหายไปจากประวัติศาสตร์จากนั้นเป็นต้นมา ซึ่งมีการสันนิษฐานไปต่างๆนานา ทั้งการไปครองเมืองที่ใหญ่กว่า หรือกลับไปครองเมืองราดตามเดิมอย่างสงบ
แม้พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ได้ปกครองสุโขทัยแล้ว กิจการเมืองก็ยังไม่สงบเรียบร้อยดังปรากฏว่ามี ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ยกทัพเข้ามาตีเมืองตาก และท้ายที่สุดเกิดยุทธหัตถี ระหว่างขุนสามชน กับ รามราช พระโอรสองค์เล็กของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ผลคือพระโอรสองค์เล็กได้รับชัยชนะ และได้รับการเฉลิมพระนามว่ารามคำแหง หลังพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคต พ่อขุนบานเมือง พระโอรสองค์โต และ พ่อขุนรามคำแหง พระโอรสองค์เล็ก ก็ได้ปกครองสุโขทัยต่อตามลำดับ โดยในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงได้ประกอบพระกรณียกิจไว้มากมาย ทั้งการขยายดินแดน ซึ่งเดิมเชื่อว่าทรงได้พื้นที่จากพงสาลี จรดแหลมมลายู แต่ปัจจุบันหลักฐานหลายชิ้นระบุอาณาเขตไว้ใต้สุดเพียงเมืองพระบาง นอกจากนี้ด้านศาสนายังมีการประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์อีกด้วย

ประวัติศาสตร์

ชุมชนก่อนรัฐ ความเชื่อเรื่องก่อนกำเนิดรัฐสุโขทัย แต่เดิมมีความเชื่อว่ากลุ่มคนจำนวนมากอพยพหนีการรุกรานจากจีนผ่านมาทางเชียงแสน เชียงราย ลุ่มแม่น้ำปิง และตั้งเมืองที่ลุ่มแม่น้ำยมตอนล่าง คติดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมประวัติศาสตร์ชาตินิยม และสร้างภาพของสุโขทัยออกมาในฐานะราชธานีอันยิ่งใหญ่ที่มีเขตแดนจากพงสาลีจรดปลายแหลมมลายู มีแสนยานุภาพเกรียงไกรด้วยกองทัพปลดแอกจากมหาอำนาจขอม มีรูปแบบการปกครองแบบครอบครัวเชิงอุปถัมภ์ที่เรียกกันว่าพ่อปกครองลูก อีกทั้งมีเศรษฐกิจที่รุดหน้ากว่าชาติตะวันตกในรูปแบบการค้าเสรี มีการใช้ภาษาเชิงอารยะคือมีอักษรใช้เป็นของชาติตนเอง แต่ในเวลาต่อมาแนวคิดนนี้เริ่มมีข้อบกพร่อง อีกทั้งเริ่มมีหลักฐานอื่นขึ้นมาขัดแย้งเรื่อยๆ นอกจากนี้แนวความคิดนี้ยังก่อให้เกิดปัญหามโนคติตามมา
ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่า ในบริเวณสุโขทัยน่าจะมีชุมชนอยู่ก่อนแล้ว ทั้งจากกลุ่มชนที่สูงพวกลัวะ หรือกลุ่มพื้นราบจากอารยธรรมทวารวดี นอกจากนี้ยังมีการค้นพบแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ที่บ้านวังหาด อำเภอบ้านด่านลานหอย โดยเฉพาะแร่เหล็ก ซึ่งก่อให้เกิดการตั้งฐิ่นฐานเพื่อทำอุตสาหกรรมถลุงแร่เหล็ก และการผลิตเครื่องมือเหล็กต่างๆในราวยุคเหล็กตอนปลายต่อเนื่องสมัยทวารวดี โดยพบหลักฐานเป็นโลหะห้อยคอรูปหน้าลิง นอกจากนี้ยังพบร่องรอยชุมชนริมแม่น้ำลำพัน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงวังตะคร้อ ซึ่งมีการพบหลักฐานจำพวกลูกปัด และบริเวณนี้ก็เป็นที่ตั้งของถ้ำเจ้าราม หรือถ้ำพระราม ซึ่งเป็นสถานที่ที่ถูกเอ่ยถึงในศิลาจารึกหลักที่ 1 แต่ชุมชนเหล่านี้ ก็มิได้ขยายตัวเป็นเมืองใหญ่จวบจนกระทั่งสมัยอาณาจักรเท่านั้น [ต้องการอ้างอิง]
สุโขทัย เป็นชุมทางการค้าที่สำคัญจุดหนึ่งที่ผู้คนจากทั่วสารทิศมาพบปะกันจริงๆ ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ดังจะเห็นได้ว่าในตอนต้นของประวัติศาสตร์ มีการปรากฏตัวของ มะกะโท ซึ่งเป็นพ่อค้า และยังมีการเข้าตีเมืองตาก โดยขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในช่วงเวลาหนึ่งของสุโขทัย ทั้งนี้มีการสันนิษฐานว่า สุโขทัยเป็นสถานีการค้าของแคว้นละโว้ (ลวรัฐ) บนเส้นทางการค้าผ่านคาบสมุทรระหว่างอ่าวเมาะตะมะ กับเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง (ประเทศลาว) คาดว่าเริ่มตั้งเป็นสถานีการค้าในราวพุทธศักราช 1700 ในรัชสมัยของพระยาธรรมิกราช กษัตริย์ละโว้[ต้องการอ้างอิง] โดยมีพ่อขุนศรีนาวนำถม เป็นผู้ปกครองและดูแลกิจการภายในเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย ต่อมาเมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถมสวรรคต ขอมสบาดโขลญลำพง สันนิษฐานว่าเป็นผู้ตรวจราชการจากลวรัฐ[ต้องการอ้างอิง] เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองสุโขทัย แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เหตุสงครามอย่างที่เข้าใจกัน เพราะขอมสบาดโขลญลำพงครองสุโขทัยเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างนาน แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถชี้ชัดระยะเวลาที่แท้จริงได้ก็ตาม

ที่ตั้งและอาณาเขต

อาณาจักรสุโขทัย ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าผ่านคาบสมุทรระหว่างอ่าวเมาะตะมะ และที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงตอนกลาง มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ มีเมืองแพร่ (ปัจจุบันคือจังหวัดแพร่) เป็นเมืองปลายแดนด้านเหนือสุด
ทิศใต้ มีเมืองพระบาง (ปัจจุบันคือจังหวัดนครสวรรค์) เป็นเมืองปลายแดนด้านใต้
ทิศตะวันตก มีเมืองฉอด (ปัจจุบันอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) เป็นเมืองชายแดนที่จะติดต่อเข้าไปยังอาณาจักรมอญ
ทิศตะวันออก ถึงเมืองสะค้าใกล้แม่น้ำโขงในเขตภาคอีสานตอนเหนือ

อาณาจักร สุโขทัย

อาณาจักรสุโขทัย หรือ รัฐสุโขทัย (อังกฤษ: Kingdom of Sukhothai) เป็นอาณาจักร หรือรัฐในอดีตรัฐหนึ่ง ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำยม เป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่ยุคเหล็กตอนปลาย จนกระทั่งสถาปนาขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 ในฐานะสถานีการค้าของรัฐละโว้ หลังจากนั้นราวปี 1800 พ่อขุนบางกลางหาวและพ่อขุนผาเมือง ได้ร่วมกันกระทำการยึดอำนาจจากขอมสบาดโขลญลำพง ซึ่งทำการเป็นผลสำเร็จและได้สถาปนาเอกราชให้สุโขทัยเป็นรัฐอิสระ และมีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับและเพิ่มถึงขีดสุดในสมัย พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก่อนจะค่อยๆตกต่ำ และประสบปัญหาทั้งจากปัญหาภายนอกและภายใน จนต่อมาถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาไปในที่สุด